หน้าหลัก| กระทรวงเกษตรและสหกรณ์| กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ | พระราชบัญญัติ| พระราชกฤษฎีกา| กฏกระทรวง
คำสั่ง| ผู้ชำระบัญชี| การตรวจสอบกิจการ| ระเบียบ| ประกาศต่างๆ

บทที่ 1

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชี

อาจารย์ชรินทร ศรีวิฑูรย์

ความหมายของการบัญชี

 

การบัญชี เป็นศิลปะของการรวบรวม บันทึก จำแนก และทำสรุปข้อมูลอันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในรูปตัวเงิน ผลงานขั้นสุดท้ายของการบัญชีคือ การให้ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลหลายฝ่าย และผู้ที่สนใจในแต่ละกิจกรรม

จากคำจำกัดความของคำว่า "การบัญชี” สามารถอธิบายความหมายได้ดังนี้

1. ขั้นตอนของการเลือกและการเก็บรวบรวม คือการพิจารณาว่ารายการที่เกิดขึ้นเป็นรายการค้าหรือไม่ (เป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่กิจการต้องนำมาบันทึกหรือไม่) ต้องเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อไว้ใช้ในการบันทึกบัญชี

2. การจดบันทึกและการวัดมูลค่า เป็นการนำข้อมูลเอกสารจากขั้นตอนแรกมาบันทึกรายการทางบัญชีหรือรายการค้าและเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องเป็นรายการหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมาบันทึกลงในสมุดบัญชี เรียกว่า "สมุดรายวัน” (Journal) การบันทึกจะมีการวัดมูลค่าเข้ามาเกี่ยวข้อง การวัดมูลค่า หมายถึง การแสดงมูลค่าของรายการนั้นๆ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นรายการประเภทไหน เช่น วัดด้วยราคาทุน (ราคา ณ วันที่ได้มา) หรือวัดด้วยราคายุติธรรม (ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีความเต็มใจในการซื้อขายกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร)

3. การใช้หน่วยเงินตรา การบันทึกรายการทางบัญชีต้องใช้หน่วยเงินตรา เช่น บาท ดอลลาร์ เป็นต้น และถือว่าจำนวนที่บันทึกลงไปแต่ละหน่วยจะมีค่าคงที่ แม้ค่าของเงินจะเปลี่ยนแปลง

4. การจัดหมวดหมู่ เพื่อหายอดคงเหลือของทุกรายการโดยการแยกประเภทบัญชีเป็นสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย ในการจัดหมวดหมู่จะใช้สมุดบัญชีที่เรียกว่า "สมุดแยกประเภท” (Ledger)

5. การสรุปผลและการรายงานข้อมูลทางการเงิน เมื่อมีการบันทึกบัญชีไประยะหนึ่ง จะต้องนำรายการที่จัดหมวดหมู่มาสรุปผลดำเนินการและฐานะของกิจการโดยจัดทำ "งบการเงิน” (Financial Statement) ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนคือ

1) งบกำไรขาดทุน

2) งบดุล

3) งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น

4) งบกระแสเงินสด

5) นโยบายบัญชี และหมายเหตุประกอบงบการเงิน นโยบายบัญชี เป็นหลักการทางบัญชีที่กิจการใช้ในการจัดทำ และนำเสนองบการเงิน สำหรับหมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญทำให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบหลักปฏิบัติทางบัญชีที่กิจการเลือกใช้ในการจัดทำและนำเสนองบการเงิน

การบัญชีและการทำบัญชี

งานของการทำบัญชี เป็นเรื่องของการบันทึกรายการค้าหรือข้อมูลทางบัญชีที่เกิดขึ้นในสมุดบัญชีจนกระทั่งจัดทำงบการเงิน ผู้ที่มีหน้าที่ในการบันทึกบัญชีเรียกว่า "ผู้ทำบัญชี” (Bookkeeper) ส่วนการบัญชีเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบการบันทึกบัญชี การจัดทำรายงานการเงินและแปลความหมายของรายงานการเงิน นักบัญชี (Accountant) มีหน้าที่จัดวางระบบบัญชีของกิจการ ควบคุมและตรวจตรางานของผู้ทำบัญชี ดังนั้นนักบัญชีต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์มากว่าผู้ทำบัญชี

 

ประโยชน์ของข้อมูลทางการบัญชี

 

1. ทราบถึงความก้าวหน้าของกิจการ และประสบการณ์ในการดำเนินงานของผู้บริหาร

2. ทราบถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการ

3. ให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการวางแผนการควบคุม และตัดสินใจ

4. ให้ฝ่ายบริหารทราบถึงข้อบกพร่องในการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคต

 

ผู้ใช้ข้อมูลทางบัญชี

 

Ø ผู้ถือหุ้น (Stockholder) เป็นผู้นำเงินมาลงทุนในกิจการ (ในรูปเงินสดหรือสิ่งของก็ได้) ดังนั้นผู้ถือหุ้นก็ต้องการทราบผลการดำเนินงานว่ามีกำไรหรือขาดทุน มีการจ่ายเงินปันผลมากน้อยเพียงใด

Ø เจ้าหนี้ (Creditor) เป็นผู้ที่ให้กิจการกู้เงิน หรืออาจให้เครดิตแก่กิจการในการชำระเงินสด ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องการทราบความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ

Ø ผู้บริหาร (Management Team) เป็นผู้ที่ได้รับผลตอบแทน ดังนั้นผู้บริหารต้องสนใจในผลประกอบการของกิจการรวมทั้งฐานะของกิจการ หากกิจการมีผลประกอบการที่ดี ฐานะการเงินที่มั่นคง ผู้บริหารก็จะได้รับผลตอบแทนจากกิจการที่ดี

Ø คู่แข่งขัน (Competitor) ต้องการทราบเพื่อที่จะได้วางแผนกำหนดนโยบายของกิจการตัวเองเพื่อที่จะได้แข่งขันและอยู่รอดได้ในธุรกิจ

Ø พนักงาน (Employee) เพื่อคาดการณ์การได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินเดือน โบนัส รวมทั้งจะได้พิจารณาถึงความมั่นคงของตัวเองในการทำงานที่กิจการ

Ø ลูกค้า (Customer) หากลูกค้าต้องการที่จะสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากกิจการก็ต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของกิจการเพื่อพิจารณาว่าเมื่อสั่งสินค้าแล้วจะได้รับการจัดส่งตรงตามเวลาหรือไม่

จากผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชี จะเห็นได้ว่าสามารถจำแนกประเภทของผู้ใช้งบการเงินได้เป็น 2 ประเภท คือ ผู้ใช้งบการเงินภายในกิจการ และผู้ใช้งบการเงินภายนอกกิจการ จากหลักการนี้สามารถแบ่งประเภทของการบัญชีได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การบัญชีการเงิน และการบัญชีบริหาร หรือการบัญชีเพื่อการจัดการ

การบัญชีการเงิน (Financial Accounting) หมายถึง การจัดทำบัญชีและการรายงานทางการเงินของกิจการที่จัดทำภายใต้กฎเกณฑ์หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือมาตรฐานบัญชี ให้แก่ผู้ใช้งบการเงินภายนอกกิจการ เพื่อใช้ประกอบการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ

การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) หมายถึง การจัดทำบัญชี และรายงานทางการเงินของส่วนงานต่างๆ ในองค์กรให้แก่ฝ่ายบริหารของกิจการเพื่อใช้ในการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจ การจัดทำข้อมูลทางบัญชีจะทำตามความเหมาะสม และตามความต้องการของฝ่ายบริหาร

 

 

 

การบัญชีการเงิน

การบัญชีบริหาร

ผู้ใช้งบการเงิน

บุคคลภายนอกองค์การที่มีส่วนได้เสีย

บุคคลภายในองค์การ

รูปแบบการนำเสนอ

 

นำเสนอรายงานในรูปของงบการเงิน

ไม่มีรูปแบบในการนำเสนอ จะนำเสนอตามความต้องการของผู้ใช้

เนื้อหาในการนำเสนอ

 

- รายงานผลการดำเนินงานทั้งองค์กร

- ใช้หลักระบบบัญชีคู่

- นำเสนอข้อมูลที่เกิดในอดีตมาสรุปในรูปรายงานทางการเงิน

- รายงานผลโดยละเอียดเฉพาะเรื่องตามความต้องการของผู้ใช้

- ใช้หลักการอื่นๆนอกเหนือจากงานระบบบัญชีคู่

- โดยทั่วไปนำเสนอข้อมูลในอนาคต

มาตรฐานการนำเสนอ

 

- ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีรับรองโดยทั่วไป รวมทั้งตามกฎระเบียบและข้อบังคับของหน่วยงานที่กำกับดูแลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

- ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป จะนำเสนอข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้

วัตถุประสงค์ในการนำเสนอ

 

- นำเสนอข้อมูลรายงานทั่วๆ ไปสำหรับผลการดำเนินงานและฐานะของกิจการ

- นำเสนอข้อมูลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของผู้ใช้

การกำหนดให้นำเสนอข้อมูล

- ถูกบังคับให้นำเสนอตามมาตรฐานวิชาชีพ

- ไม่จำเป็นต้องนำเสนอก็ได้

ระยะเวลาในการนำเสนอ

- นำเสนอในรอบไตรมาสหรือประจำปีโดยอย่างน้อยต้องนำเสนอปีละครั้ง

- นำเสนอได้บ่อยครั้งตามต้องการ

กระบวนการตรวจสอบ

 

- รายงานการนำเสนอต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

- รายงานการนำเสนอไม่ต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอ

- การรวบรวมข้อมูลที่นำเสนอรายงานทางการเงินจะเกี่ยวข้องเฉพาะกับข้อมูลทางการบัญชี

- การรวบรวมข้อมูลที่จะนำเสนอรายงานทางการเงินจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลหลายด้านนอกเหนือจากข้อมูลทางการบัญชี เช่น การเงิน การตลาด การวิจัย เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น

 

ตารางที่ 1.1 ความแตกต่างระหว่างการบัญชีการเงินและการบัญชีบริหาร

ประเภทของธุรกิจ

การดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะจัดตั้งในรูปแบบใด เราสามารถแบ่งประเภทของธุรกิจเป็น 3 ประเภท คือ

1. ธุรกิจพาณิชยกรรม หรือธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป เป็นธุรกิจที่กิจการซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาแล้วก็ขายออกไปเลย รายได้หลักของธุรกิจคือรายได้จากการขาย การจัดทำรายงานทางการเงินไม่ซับซ้อน เนื่องจากไม่มีต้นทุนเกี่ยวกับการผลิต มีเพียงต้นทุนจากการซื้อเท่านั้น

2. ธุรกิจอุตสาหกรรม หรือธุรกิจประเภทผลิต เป็นธุรกิจที่กิจการซื้อวัตถุดิบ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยใส่แรงงานและค่าใช้การผลิต ผลที่ออกมาคือสินค้าสำเร็จรูป รายได้หลักของธุรกิจคือรายได้จากการขาย การจัดทำรายงานทางการเงินมีความยุ่งยาก เนื่องจากการคำนวณต้นทุนการผลิตค่อนข้างซับซ้อน

3. ธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจที่กิจการให้บริการในรูปของแรงงาน รายได้จะมาจากรายได้ค่าบริการที่คิดจากลูกค้า ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะรายได้ค่าธรรมเนียม รายได้ค่านายหน้า รายได้ค่าบริการ และรายได้ค่าเช่า เป็นต้น สำหรับต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ในรูปของแรงงาน

 

รูปแบบของธุรกิจ

 

1. กิจการเจ้าของคนเดียว บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ และบุคคลเพียงคนเดียวนี้จะเป็นผู้นำเงินสด หรือสิ่งของอื่นๆ มาลงทุน ส่วนใหญ่เจ้าของมักจะดำเนินการเอง รับผิดชอบหนี้สินอย่างไม่จำกัดจำนวน การตัดสินใจเป็นของเจ้าของเยงคนเดียว ข้อเสียคือ เจ้าของจะต้องรับผิดชอบในหนี้สินอย่างไม่จำกัดจำนวน การระดมทุนไม่สามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นได้ ต้องมาจากแหล่งของเจ้าของหรือแหล่งเงินกู้ และถ้าเจ้าของเสียชีวิตกิจการก็จะสิ้นสุดไปพร้อมอายุของเจ้าของคนเดียว

2. ห้างหุ้นส่วน การดำเนินงานมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยตกลงเข้าหุ้นกัน เพื่อกระทำการร่วมกัน สัดส่วนการลงทุนไม่จำเป็นต้องเท่ากันขึ้นอยู่กับการตกลง การบริหารจะร่วมกันบริหารก็ได้ แบ่งห้างหุ้นส่วนออกเป็น 2 ประเภทคือ

2.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินอย่างไม่จำกัดจำนวน จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ห้างหุ้นส่วนสามัญแยกย่อยได้อีก 2 ประเภทคือ

2.1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จะมีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา ดังนั้นการเสียภาษีก็เปรียบเป็นบุคคลธรรมดา ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนสามารถมาบริหารจัดการห้างหุ้นส่วนได้หากไม่มีการตกลงกันไว้

2.1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน จะจดทะเบียนกับพนักงานนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท/กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน ในการจดทะเบียนต้องระบุชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย โดยหุ้นส่วนผู้จัดการจะเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วน

2.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 ประเภทคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ และผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ

- ประเภทจำกัดความรับผิด ต้องรับผิดชอบในหนี้สินไม่เกินจำนวนที่ลงทุนในห้างหุ้นส่วน

- ประเภทไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า ต้องมีหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบอย่างน้อย 1 คน และห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

รูปแบบการบริหารจัดการจะดีกว่าแบบเจ้าของคนเดียว คือผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกันระดมความคิดและแหล่งเงินทุน แต่มีข้อจำกัดด้านการบริหารในเรื่องของกฎหมาย โดยต้องมีผู้สอบบัญชีภาษีอากรเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบ

3. บริษัทจำกัด เป็นกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุน ในรูปของนิติบุคคล โดยจดทะเบียนบริษัทแยกต่างหากออกจากเจ้าของ แบ่งทุนออกเป็นมูลค่าหุ้นๆ ละเท่ากัน ผู้ลงทุนจะซื้อหุ้น จะเรียกว่า "ผู้ถือหุ้น” (Shareholders) ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบในหนี้สินไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ยังส่งให้บริษัทไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่ ผู้ถือหุ้นถือว่าเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน มีสิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ จะได้รับส่วนแบ่งในรูปเงินปันผล การจดทะเบียนหุ้นจะเรียกว่า "หุ้นสามัญ”

การจัดตั้งบริษัทจำกัด จำแนกได้ 2 ประเภท

1) บริษัทเอกชนจำกัด จะแบ่งทุนเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน จะมีผู้ถือหุ้นไม่ถึง 100 คน

2) บริษัทมหาชนจำกัด ต้องจัดตั้งโดยกลุ่มบุคคลอย่างน้อย 15 คน และต้องมีผู้ถือหุ้นเกินกว่า 100 คน หุ้นของบริษัทมหาชนจำกัด มี 2 ประเภท คือหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ์

 

หุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ์ มีความเหมือนกันคือ ผู้ถือหุ้นทั้งสองเป็นเจ้าของกิจการ แตกต่างกันที่ว่าผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิ์ในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุม ผู้ถือหุ้นทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งผลการดำเนินงานในรูปเงินปันผล แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ และหากมีการเลิกกิจการผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับการคืนเงินก่อน แต่เงินปันผลของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะมีการกำหนดอัตราไว้ล่วงหน้า

แม่บทการบัญชี

แม่บทการบัญชี กำหนดขึ้นเพื่อวางแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำ และนำเสนองบการเงินแก่ผู้ใช้งบการเงินที่เป็นบุคคลภายนอก แนวความคิดและหลักการบัญชีต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในแม่บทการบัญชีมีดังนี้

 

1. ข้อสมมติ

1.1 เกณฑ์คงค้าง ภายใต้เกณฑ์คงค้าง รายการและเหตุการณ์ทางบัญชีจะรับรู้เมื่อเกิดขึ้น มิใช่เมื่อมีการรับหรือจ่ายเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด

1.2 การดำเนินงานต่อเนื่อง กิจการที่ตั้งขึ้นมาจะดำเนินการต่อเนื่องกันยาวนาน พอที่จะบรรลุเป้าหมายและข้อผูกพันที่ทำไว้จนสำเร็จ หากกิจการมีความจำเป็นต้องเลิกกิจการ งบการเงินต้องัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์อื่นและต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในงบการเงินด้วย เช่นการบันทึกค่าเสื่อราคา

 

2. ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน

2.1 ความเข้าใจได้ งบการเงินต้องสามารถเข้าใจได้ในทันทีที่ผู้ใช้งบการเงินใช้ข้อมูลดังกล่าว

2.2 ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ของผู้ให้ข้อมูลขึ้นอยู่กับลักษณะและความมีนัยสำคัญของข้อมูลดังต่อไปนี้

- เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

- บทบาทของข้อมูลที่ช่วยในการคาดคะเนและยืนยันความถูกต้องของการคาดคะเนที่ผ่านมามีความสัมพันธ์กัน

- ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในอดีตของกิจการมักถือเป็นเกณฑ์ในการคาดคะเนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในอนาคต รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ผู้ใช้งบการเงินสนใจ

2.3 ความเชื่อถือได้ เป็นการอธิบายว่าข้อมูลในงบการเงินจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินในการนำมาใช้เพื่อการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจนั้น ข้อมูลต้องเชื่อถือได้ไม่มีความผิดพลาด รวมทั้งไม่มีการนำเสนออย่างลำเอียงไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งมี 5 คุณลักษณะคือ

2.3.1 การเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม

2.3.2 เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ

2.3.3 ความเป็นกลาง

2.3.4 ความระมัดระวัง

2.3.5 ความครบถ้วน

2.4 การเปรียบเทียบกันได้ ผู้ใช้งบการเงินต้องสามารถนำข้อมูลในงบการเงินมาเปรียบเทียบกับงบการเงินในรอบระยะเวลาต่างกันของกิจการเดียวกันได้


สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อุบลราชธานี ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
โทรศัพท์ 0 4521 0281 , 0 4521 0282 โทรสาร 0 4521 0333 อีเมล์ [email protected]